LGBTQ ใช้เรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ประกอบไปด้วย Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender และ Queer ซึ่งเติมเข้ามาในภายหลัง โดยกลุ่มดังกล่าวมีการเปิดตัวและได้รับการยอมรับมากกว่าในอดีต ดังจะเห็นได้จากบางประเทศมีการแก้กฎหมายให้เพศเดียวสามารถแต่งงานและจดทะเบียนสมรสได้ เพื่อแสดงถึงสิทธิและเสรีภาพ โดยอักษรย่อ LGBTQ มีความหมายดังนี้
L : Lesbian คือ พฤติกรรมของเพศหญิงที่มีความรักให้กับเพศหญิงด้วยกัน
G : Gay คือ พฤติกรรมของเพศชายที่มีความรักให้กับเพศชายด้วยกัน
B : Bisexual คือ พฤติกรรมที่เพศชายและเพศหญิงที่มีความรักให้กับเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้ามได้
T : Transgender คือ กลุ่มคนที่ทำการแปลงสภาพเพศให้เป็นเพศตรงข้าม เช่น ชายเป็นหญิง เป็นต้น
Q : Queer คือ พฤติกรรมที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ จะคล้ายกับ Bisexual คือ สามารถที่จะชอบเพศเดียวกันก็ได้หรือเพศตรงข้ามก็ได้
ผิดหรือไม่หากเป็น LGBTQ
หากเป็นสมัยก่อนคนที่เป็น LGBTQ มักจะไม่ได้รับการตอบรับจากสังคมและคนรอบข้างสักเท่าไรนัก เพราะหลายประเทศมองว่าเป็นสิ่งที่ผิด โดยเฉพาะพฤติกรรมที่รักในเพศเดียวกันและชายก็ได้ หญิงก็ดี เพราะถือว่าผิดธรรมชาติและจารีตประเพณีที่สืบต่อกันมาว่าชายต้องคู่กับหญิงเท่านั้น ต้องคอยหลบซ่อนเมื่อต้องคบหากันระหว่างเพศเดียวกัน แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องคอยแอบอีกต่อไป สำหรับครอบครัวคนไทยบางครอบครัวอาจจะรับไม่ได้ที่ลูกมีพฤติกรรม LGBTQ นี้ ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจและปรับความคิดเสียใหม่
ครอบครัวควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อลูกเป็น LGBTQ
สิ่งแรกที่ครอบครัวควรทำคือเปิดใจให้กว้างและรับฟังปัญหาของลูก ห้ามรังเกียจ หรือโกรธ โมโหในสิ่งที่ลูกเป็น แต่ควรทำความเข้าใจ เพราะมีบางเคสที่ลูกชายในช่วงมัธยมมีพฤติกรรมตุ้งติ้ง แต่พอเข้าสู่วัยผู้ใหญ่พฤติกรรมดังกล่าวกลับหายไปและแทนที่ด้วยการมีแฟนผู้หญิงก็มี สิ่งที่ครอบครัวควรปฏิบัติต่อลูกมีดังนี้
- ห้ามเปรียบเทียบ เชื่อว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็น LGBTQ หรือไม่ มักไม่ชอบให้นำตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะนั่นแสดงถึงพ่อแม่ที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวของเขาและสร้างแรงกดดันให้กับลูก จนนำไปสู่ความเครียดได้
- ให้ความสำคัญ การชื่นชมและให้กำลังใจเมื่อลูกประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรกระทำ แต่ควรทำบนพื้นฐานของความพอดี ไม่มากเกินไปและไม่น้อยจนเกินไป
- สื่อสารในเชิงบวก การพูดคุยควรพูดคุยแต่สิ่งดี ๆ ไม่ดุด่าว่ากล่าว และรับฟังลูกให้มากขึ้น อย่าเพิ่งสอดแทรกในสิ่งที่เขาเล่า เพื่อที่ลูกจะได้เปิดใจและบอกกล่าวถึงความในใจที่มีทั้งหมด เพื่อที่จะได้ช่วยและแก้ไขต่อไป
- ปล่อยให้เรียนรู้ ควรปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ ลองผิด ลองถูก แต่พ่อแม่ควรสังเกตและเฝ้าดูห่าง ๆ อาจให้คำปรึกษาได้ แต่ไม่ควรช่วยทั้งหมด
ไม่ว่าบุตรหลานหรือคนในบ้านจะมีพฤติกรรม LGBTQ คนในบ้านก็มิควรดุด่า ล้อเลียน แต่ควรทำความเข้าใจ เปิดใจ ไม่ใช่ในการแก้ไขปัญหาในสิ่งที่ลูกเป็น แต่ควรปล่อยให้ลูกแสดงตัวตนออกมาและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข