
โคลงโลกนิติ เป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าสูงยิ่งทั้งด้านวรรณศิลป์และเนื้อหาสาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เห็นถึงการมองโลกของกวี สามารถนำเอาข้อคำสอนมาปรับใช้กับการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
แทบไม่น่าเชื่อว่า “โคลงโลกนิติ” บทประพันธ์ที่มีอายุเก่าแก่นับร้อยปี จะมีคำสอนที่สามารถนำมาใช้ได้ดีในยุคปัจจุบัน หากจะกล่าวว่าคำสอนคำชี้แนะที่ปรากฏในเรื่องมีความเป็นสากล คนทุกเชื้อชาติศาสนาสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติได้ก็คงไม่ผิดไปจากความจริงนัก เรามาดูกันว่า วรรณคดีเรื่องนี้มีข้อคิดอะไรบ้าง
๑.ให้รู้จักคิดพิจารณาก่อนจะลงความเห็นในเรื่องใดๆลงไป
มีบทเปรียบเปรยบทหนึ่งในโคลงโลกนิติ ซึ่งอ่านแล้วอดคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมยุคนี้ไม่ได้ โคลงบทนี้มีอยู่ว่า
น้ำเคี้ยวยูงว่าเงี้ยว ยูงตาม
ทรายเหลือบหางยูงงาม ว่าหญ้า
ตาทรายยิ่งนิลวาม พรายเพริศ
ลิงว่าหว้าหวังหว้า หว่าดิ้นโดดตาม
สายน้ำที่คดเคี้ยว นกยูงมองเห็นเป็นงูจึงวิ่งตามเพื่อจับกินเป็นอาหาร ในขณะที่กวาง(ทราย)มองเห็นหางของนกยูงเป็นหญ้าเขียวก็โดดตามไปเพื่อจะกินเช่นเดียวกัน ส่วนลิงเห็นดวงตาอันดำขลับของกวางก็เข้าใจว่าเป็นลูกหว้าก็โดดวิ่งตามไปอีกเช่นกัน จนทั้งสามต้องพบชะตากรรมเดียวกันคือ จมน้ำตาย
การขาดการพิจารณาไตร่ตรองของคนในยุคปัจจุบันซึ่งมีเทคโนโลยีเอื้อให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและรวดเร็ว หลายคนหลงเชื่อง่ายดายกับสิ่งที่ได้เห็น ได้ยินได้ฟัง ตกหลุมพรางของข่าวเท็จ ข่าวลือ จนไม่น้อยต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับนกยูง งูและลิง
๒.หลงรูปภายนอก ละเลยเนื้อแท้ข้างใน
คนยุคปัจจุบัน มักนิยมสร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้สวยงามดูดี มักจะละเลยความดีจากข้างใน โคลงโลกนิติได้พูดถึงคนที่ดูดีภายนอก แต่ภายในมีแต่ความชั่วร้ายว่า
ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้ มีพรรณ
ภายนอกแดงดูฉัน ชาดบ้าย
ภายในย่อมแมลงวัน หนอนบ่อน
ดุจดังคนใจร้าย นอกนั้นดูงาม
ผลเดื่อหรือมะเดื่อ เป็นพืชชนิดหนึ่ง ภายในมักมีหนอนและแมลงชอนไช กวีนำมาเปรียบเทียบกับคนสวย(หล่อ)ใจทรามซึ่งตรงกันข้ามกับพืชอีกชนิดหนึ่ง คือ ขนุนซึ่งผิวนอกขรุขระตะปุ่มตะป่ำ แต่รสชาติของเนื้อขนุนนั้นอร่อยหอมหวานยิ่งนัก
ขนุนสุกสล้างแห่ง สาขา
ภายนอกเห็นหนามหนา หนั่นแท้
ภายในย่อมรสา เอมโอช
สาธุชนนั้นแล้ เลิศด้วยดวงใจ
๓.จิตมนุษย์นี้ไซร้ยากแท้หยั่งถึง
ด้วยเหตุที่คนในสังคมทุกวันนี้ มักหลงใหลได้ปลื้มกับรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าน้ำใสใจจริงข้างในดังกล่าว มิจฉาชีพจึงเอาช่องโหว่ดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวงคนอื่น เพราะหลายคนลืมนึกถึงความจริงไปข้อหนึ่งว่า จิตใจคนนั้นยากแท้หยั่งถึง รูปลักษณ์ที่สวยงามภายนอก วาจาน่าเชื่อถือ สุภาพอ่อนหวาน บางทีอาจแอบซ่อนสิ่งชั่วร้ายไว้ภายใน ซึ่งโคลงโลกนิติได้กล่าวเตือนสติเอาไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อนว่า
พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดมา หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง
ด้วยเหตุที่ “จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง” นี้เอง โคลงโลกนิติอีกบทหนึ่งจึงได้เตือนเอาไว้ว่า อย่าไว้ใจใครเด็ดขาดแม้กระทั่งเมียรักข้างกาย
ช้างสารหกศอกไซร้ เสียงา
งูเห่ากลายเป็นปลา อย่าต้อง
ข้าเก่าเกิดแต่ตา ตนอยู่ ก็ดี
เมียรักอยู่ร่วมห้อง อย่าไว้วางใจ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ยกมาให้เห็นว่า โคลงโลกนิติเป็นวรรณคดีที่นอกจากจะให้ทั้งข้อคิดข้อเตือนใจผู้คนให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีสติแล้ว โคลงโลกนิติยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นความเป็นไปในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ให้เราได้ฉุกคิดและนำมาปรับใช้ทั้งในการดำเนินชีวิตตลอดจนในหน้าที่การงานเพื่อประโยชน์แก่ตนและประเทศชาติสืบไปค่ะ